บทความ / ทำไมคนหนุ่มสาวป่วยเป็นมะเร็งปอดกันมากขึ้น?
News & Analysis
ทำไมคนหนุ่มสาวป่วยเป็นมะเร็งปอดกันมากขึ้น?
26 เม.ย. 67
817
รูปภาพในบทความ ทำไมคนหนุ่มสาวป่วยเป็นมะเร็งปอดกันมากขึ้น?

จากกรณีแพทย์หนุ่มวัย 28 ปี ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ป่วยเป็นมะเร็งปอด ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยแพทย์ได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี

ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับมะเร็งปอด แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด และมีการแพร่กระจายเร็ว อีกทั้งยังมีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิด ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้า จึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก รักษาได้ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออก ร่วมกับการให้เคมีบำบัด และรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่น ๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้

อะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในคนที่ออกกำลังกายและไม่สูบบุหรี่?

งานวิจัยหลายงานได้รายงานผลออกมาว่า การเกิดมะเร็งที่รวมไปถึงมะเร็งปอด เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ยกตัวอย่างจากบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2010 - 2020 จากงานวิจัย 23 ฉบับที่นำมาพิจารณาพบว่า

  1. มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงและเกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว

  2. การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (Somatic Cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในคนที่แข็งแรงและไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ ยีน TP53, ยีน EGFR T790M, กลุ่มยีน BRCA, ยีน HER2, ยีน YAP1, ยีน CHECK2

แต่ยีน TP53 ซึ่งเป็นยีนสร้างโปรตีน p53 ทำหน้าที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่าง ๆ ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors  (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ปี 2008 ได้รายงานผลการศึกษาถึงปัจจัยต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ โดยสรุปได้ว่า

  • การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอด ซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งในสภาพแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร โดยความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน

  • การศึกษานี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องของผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่

  • นักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank

  • ผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้

  • แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดี ไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใด ๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง

  • ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์แล้วพบว่า การใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัด ศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

งานวิจัยของนักวิจัยไทยดังกล่าวได้ผลสรุปสุดท้ายว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่า การกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ หากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้ว จะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ พ.ศ. 2566 ก็ดูเหมือนว่ายังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าทำไม ยีน TP53 กลายพันธุ์ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักตลอดเวลาคือ การดูแลสุขภาพ และลดการเผาไหม้ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเท่าที่จะทำได้

ติดตามงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสินค้า อาหาร และอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลการบริโภคกับช่วง คิดก่อนเชื่อ ในรายการภูมิคุ้มกัน ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และ Youtube ของไทยพีบีเอสพอดคาสต์


บทความโดย ดร.แก้ว  กังสดาลอำไพ  นักพิษวิทยาและนักวิจัย

เรียบเรียงโดย ชนาธิป  ไพรพงค์


ฟังรายการได้ทาง


 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป